(รีวิว)ไมโครโฟน USB Audio-Thecnica ATR2500


รีวิว Audio-Thecnica ATR2500 USB Condenser Microphone

โดยอาจารย์ เดชฤทธิ์ พลเยี่ยม (Bobby Rambo)

หากท่านกำลังมองหาไมโครโฟนที่ใช้สำหรับงานพอดคาสติ้ง (podcasting) โฮมสตูดิโอ (home studio) และว้อยซ์โอเวอร์ (voiceovers) Audio Technica ATR2500-USB เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจทีเดียว  จุดเด่นของไมโครโฟนรุ่นนี้คือเป็นไมค์ชนิดคอนเด็นเซอร์แบบไดอะแฟรมขนาดใหญ่ ใช้ไฟเลี้ยงผ่านพอร์ต USB อาศัยกระแสไฟจ่ายจากคอมพิวเตอร์พีซีหรือแมคฯ มาเลี้ยงวงจร ไมโครโฟน ATR2500-USB ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการบันทึกเสียงให้ได้คุณภาพที่ดี โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านเทคนิคมากนัก

ไมโครโฟน ATR2500-USB เป็นไมค์ชนิด USB ทำงานในลักษณะ Plug-and-Play สามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์แล้วสามารถทำงานได้ทันที ไม่จำเป็นต้องติดตั้งไดรเวอร์ หรือจะติดตั้งไดรเวอร์ ASIO เพิ่มเติมก็ได้ อุปกรณ์ของไมค์รุ่นนี้ถูกออกแบบให้ติดตั้งเพื่อใช้วางบนโต๊ะ โดยภายในกล่องจะมีขาตั้ง มีที่ล็อคตัวไมค์ และมาพร้อมกับสายเคเบิล USB กรณีเป็นการใช้งานในลักษณะที่เน้นการบันทึกเสียงแบบเร่งด่วน

ATR2500-USB จัดว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมาก อย่างไรก็ดี กรณีที่ท่านซีเรียสในเรื่องการบันทึกสัญญาณเสียง อาจจะต้องพิจารณาในการซื้อขาตั้งไมค์ยาวๆ และตัวกรองลม ซึ่งจะทำให้ท่านใช้งานได้กว้างขึ้น คือกรณีวางบนโต๊ะอาจจะนั่งพูดอย่างเดียว แต่ถ้ามีขาตั้งยาวๆ จะทำให้ยืนพูดหรือยืนร้องได้สะดวก หรือจะนำไปจ่ออุปกรณ์พวกตู้แอมป์กีตาร์ไฟฟ้า กีตาร์เบส หรือตู้แอมป์คีย์บอร์ด รวมถึงแหล่งกำเนิดเสียงอคูสติกต่างๆ ได้เช่นกัน

ในกล่องมีอะไร

เมื่อท่านแกะกล่อง ATR2500-USB จะพบตัวไมโครโฟนซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก ซึ่งไมค์คอนเด็นเซอร์จะมีรูปลักษณ์คล้ายๆ กัน คือด้านนอกเป็นวัสดุโลหะแข็งแรง บริเวณแผงลวดจะป้องกันไดอะแฟรมที่ใช้รับเสียงให้ปลอดภัย และยังพบสาย USB เพื่อใช้เชื่อมต่อระหว่างไมค์กับคอมพิวเตอร์ ถัดมาเป็นตัว Mount ของไมค์ พร้อมกับขาตั้ง 3 แฉกที่ใช้วางบนโต๊ะ เป็นโลหะแข็งแรง พร้อมคู่มือการใช้งานหนึ่งเล่ม

การเซตอัพไมโครโฟน

ผู้เขียนได้ทำการประกอบไมค์ตามคู่มือ ซึ่งอันที่จริงสามารถทำได้โดยไม่ต้องอ่านคู่มือก็ได้ เพราะไม่มีอะไรยุ่งยาก แต่จุดที่ต้องพึงระวังคือตำแหน่งล็อคตัวไมค์กับขาตั้ง เนื่องจากมันจะล็อคได้ไม่แน่นนัก แต่ว่าสามารถใช้งานได้ หากวางไว้บนโต๊ะปกติ สำหรับขั้นตอนแรกให้เริ่มจากกางขาตั้งไมค์ออกแล้วล็อคไมค์ให้เข้ากับขา เสียบสาย USB เข้าไปที่ตัวไมค์ แล้วตามด้วยฝั่งคอมพิวเตอร์ จะเห็นว่าไฟสีฟ้าบนตัวไมค์จะสว่างทันที นั่นหมายถึง ไมค์พร้อมใช้งานแล้ว

รออีกสักครู่เพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำความรู้จักตัวไมค์เสียก่อน เสร็จแล้วให้รีสตาร์ทคอมพิวเตอร์ เพื่อเริ่มเซตระบบต่อไป ไมค์รุ่นนี้ตามสเป็กระบุว่าสามารถตอบสนองความถี่ได้ตั้งแต่ 30Hz-15kHz ถือว่ากว้างมาก เนื่องจากถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้หลากหลายจึงสามารถตอบสนองความถี่ได้กว้างนั่นเอง กรณีเน้นเป็นเสียงพูด เสียงร้อง ย่านที่สำคัญคือช่วง 160Hz ถึง 8kHz คือสามารถใช้ EQ ปรับก่อนหรือภายหลังได้

ไมค์รุ่นนี้ยังมีแพทเทิร์นรับเสียงเป็นแบบคาร์ดิออยด์ (Cardioid) จุดเด่นของมันคือจะรับเสียงเป็นแพทเทิร์นคล้ายรูปหัวใจ ในทางปฎิบัติจะรับเฉพาะด้านหน้าและด้านบนไดอะแฟรม แต่จะลดทอนเสียงด้านอื่นๆ ออกไป หรือแทรกเข้ามาได้น้อยที่สุด ผลคือจะรับเสียงฝั่งด้านหน้าชัดและกันเสียงจากด้านอื่นให้เข้ามาน้อยลง

เมื่อคอมพิวเตอร์ถูกรีสตาร์ทเรียบร้อย ผู้เขียนได้เข้าไปเซตเพื่อใช้งานตัวไมค์ โดยคลิกขวาที่ไอคอนลำโพงบนทาสก์บาร์ของระบบหลังจากนั้น

  • เลือกคำสั่ง sound คลิกแท็บ Playback เลือก Speakers – ATR USB microphone แล้ว
  • คลิกปุ่ม Set Default ด้านล่าง
  • จากนั้นคลิกแท็บ Recording แล้ว
  • เลือก Microphone – ATR USB microphone แล้ว
  • คลิกปุ่ม Set Default ด้านล่าง เสร็จแล้ว
  • คลิกปุ่ม OK

***การเซตแบบนี้จะทำให้ซอฟต์แวร์ด้านเสียงอ้างอิงเพื่อใช้งานพอร์ต Audio ของไมค์ตัวนี้ทั้งหมด เช่น DAW, Audio Editor, Music Player ต่างๆ รวมถึงเบราเซอร์ จากนั้นต่อหูฟังเข้าไปที่ช่องเสียบหูฟังบนตัวไมค์

ผู้เขียนได้เปิดเพลงจากเว็บ ลองบันทึกเสียงเข้าไป ขณะเดียวกันจะได้ยินเสียงภายในห้องแทรกเข้ามา เราสามารถปิดฟังก์ชันไมค์ชั่วคราวได้ ให้คลิก Properties บนหน้าต่าง Sound บนแท็บ Level จะเห็นรูปไมค์ ให้กด Mute จากนั้นผู้เขียนได้ลองเล่นผ่านซอฟต์แวร์ DAW ได้เช็คค่า Latency โดยใช้ไดรเวอร์ของ Viocemeeter Virtual เมื่อตั้ง Samples เท่ากับ 128 Sample rate @ 48kHz ค่า Latency ฝั่งอินพุตจะมีค่าต่ำถึง 2.67ms ส่วนเอาท์พุตเท่ากับ 5.33ms ที่ 256 Samples

ค่าเหล่านี้สามารถเพิ่มลดได้ตามความต้องการของเรา ซึ่งเซตได้ตั้งแต่ 128 samples ถึง 2048 samples จะเลือกค่าไหนก็อยู่ที่เรา ถ้าไม่ต้องการปรับเปลี่ยนไปมา ให้ตั้งไว้ที่ 512 samples กำลังดี แต่ในกรณีมีปัญหา Latency ในขณะบันทึกเสียงให้ลดลงมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแรงของคอมพิวเตอร์แต่ละท่านอีกด้วย


ทดสอบจริง

หลังจากได้เซตอัพระบบอุปกรณ์แล้ว คราวนี้เป็นการทดสอบการใช้งาน ผู้เขียนได้ลองทดสอบคุณภาพการบันทึกเสียงหรืออัดเสียง ด้วยค่าความละเอียดสูงสุด ไมค์ตัวนี้จะทำได้นั่นคือค่า 16-bit/48kHz โดยตั้งเป็นโหมด Stereo สำหรับซอฟต์แวร์ที่ใช้อัดคือ Steinberg Wavelab ผลออกมาคือไม่มีการกระตุก ได้เนื้อเสียงที่ดี ย่านเสียงกลางชัด

ด้วยความที่เป็นไมค์คอนเด็นเซอร์จึงทำให้เนื้อเสียงคมชัด ส่วนเนื้อเสียงพูดก็สามารถเก็บรายละเอียดเสียงได้ดีเช่นกัน หลังจากอัดเสร็จอาจจะต้องทำการคัตย่านความถี่ต่ำออกไป เพื่อให้เสียงมีความกระชับเพื่อไม่มีย่านเบสมารบกวน และการทดสอบครั้งนี้ใช้เวลานานถึง 8 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง ไม่มีอาการแฮงค์หรือค้างใดๆ เลย

ข้อดี/ข้อด้อย

สำหรับไมโครโฟนรุ่น ATR2500-USB มีข้อดีคือ

  • ให้เสียงที่ดี
  • วัสดุที่จะใช้ผลิตคุณภาพดี
  • สามารถใช้บันทึกเสียงเสียงทุกอย่างที่ต้องการ
  • เหมาะกับการบันทึกเสียงพูด เสียงร้อง เสียงดนตรีอคูสติก
  • เชื่อมต่อกับหูฟังได้โดยตรง
  • มีสวิตซ์โวลุ่มปรับความดัง/เบา แบบดิจิตอล

ข้อด้อยของไมโครโฟนรุ่นนี้คือ

  • ระบบขาล็อคตัวไมโครโฟนอาจจะไม่แน่นนัก
  • ไม่มีช่องสัญญาณ Line In สำหรับใช้กับอุปกรณ์อื่นๆ

สรุป

หากใครมีงบประมาณจำกัด และอยากได้ไมโครโฟนในราคาคุ้มค่า ติดตั้งง่าย ใช้งานได้หลากหลาย ตัว ATR2500-USB นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะเป็นไมโครโฟนแล้ว ภายในยังมีภาคออดิโออินเทอร์เฟซที่รองรับการบันทึกเสียงที่ความละเอียด 16-bit/48kHz อีกด้วย สามารถใช้อัดเสียงร้อง เสียงกีตาร์โปร่ง เสียงจากตู้แอมป์ ผู้เขียนคิดว่า ถ้าท่านลงทุนกับไมโครโฟนตัวนี้ไม่ผิดหวังแน่นอน แต่หากต้องการใช้งานเต็มรูปแบบอาจจะต้องซื้อ shock mount, pop filter และขาตั้งไมโครโฟนยาวๆ มาเสริม

ผู้เขียนขอแนะนำ หากท่านต้องการนำไปใช้งานพูด งานรีวิวสินค้า ด้วยรูปแบบการ Live สดผ่าน Facebook หรือนักดนตรี นัก Youtuber ที่ต้องการสตรีมสัญญาณเสียงออกอากาศ หรือทำเป็นคลิปอัพโหลดลงในโซเชียลมีเดีย Audio-Technica ATR2500-USB ถือว่าตอบโจทย์ได้เลย

และนี่ก็คือการรีวิวรายละเอียดและคุณสมบัติสินค้าเบื้องต้นของ ไมโครโฟน USB Audio-Thecnica ATR2500 หากมีข้อผิดพลาดประการใดสำหรับบทความและการรีวิวครั้งนี้ ทางบริษัทมิวสิคสเปซต้องขออภัยมา ณ.ที่นี้

รีวิวและบทความโดย : อาจารย์ เดชฤทธิ์ พลเยี่ยม (Bobby Rambo)


สนใจสั่งซื้อ ไมค์อัดเสียง ไมโครโฟนบันทึกเสียง ไมโครโฟน USB ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ

ติดต่อ บริษัทมิวสิคสเปซ จำกัด  022031821  026414744

https://musicspace.co.th   www.soundspacethai.com