อนาคตวงการ ไมค์ลอย/ไมโครโฟนไร้สาย กับ กฎหมายคลื่นความถี่ใหม่


อนาคตวงการ ไมค์ลอย/ไมโครโฟนไร้สาย

ในแวดวงเครื่องเสียงคงพอจะทราบข่าวใหญ่ที่สะเทือนกันทั้งวงการ นั่นคือเรื่องเกี่ยวกับคลื่นความถี่ของไมค์ลอยหรือไมโครโฟนไร้สาย และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มาบ้างแล้ว แต่คิดว่าบางท่านอาจจะยังไม่ทราบ หรือไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรนัก บทความนี้จะมาไขข้อสงสัย ให้เกิดความกระจ่างยิ่งขึ้น ว่าเรื่องราวดังกล่าวเป็นมายังไง และอนาคตจะจบแบบไหน

พื้นฐานความถี่ไมค์ลอย

ปัจจุบันไมค์ลอยแบ่งตามชนิดความถี่การใช้งานออกเป็น 3 แบบ ดังนี้

1. ไมค์ลอยที่ใช้คลื่นแบบ VHF จะใช้งานความถี่ 30-300MHz จุดเด่นของมันคือสามารถส่งสัญญาณได้ไกลเพราะเป็นคลื่นความถี่ต่ำ แต่ปัญหาคือมักจะมีปัญหาถูกรบกวนได้ง่าย และเสาส่งต้องมีขนาดใหญ่ จึงทำให้ไม่เป็นที่นิยม รวมถึงคลื่นดังกล่าวถูกนำไปใช้เป็นคลื่นวิทยุ คลื่นบรอดคาสต์ ฉะนั้นปัจจุบันไมค์ประเภทนี้จึงไม่ค่อยมีในท้องตลาด แม้ว่าทางรัฐบาลไทยจะอนุญาตให้ใช้งานคลื่น 88-108MHz, 165-210MHz ก็ตาม (คลื่นวิทยุ)

2. ไมค์ลอยที่ใช้คลื่นแบบ UHF จะใช้งานย่านความถี่ตั้งแต่ 300-3000MHz ถูกจัดเป็นคลื่นไมโครเวฟ ความยาวของคลื่นจะสั้นมาก ซึ่งมีข้อดีคือจะใช้เสาอากาศสั้นลง แต่ข้อเสียก็มีเช่นกันคือการทะลุทะลวงผ่านกำแพง ผนัง สิ่งกีดขวางอาจทำได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะหากไปกระทบกับโลหะ อย่างไรก็ดี บางยี่ห้อก็แก้ไขด้วยการออกแบบเสาอากาศเป็น Diversity คือเลือกสัญญาณที่ดีที่สุดจากเสาใดเสาหนึ่ง และมีกำลังส่งที่แรงกว่า รวมถึงในย่าน UHF ยังให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า มีแบนด์วิธกว้างกว่า โอกาสที่ความถี่จะรบกวนกันเองมีน้อยกว่า ดังนั้นคลื่นความถี่ในย่านนี้จึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ซึ่งสามารถออกแบบได้แรงถึง 250mW แต่กฎหมายอนุญาตให้อุปกรณ์มีกำลังส่งไม่เกิน 50 mW

3. ไมค์ลอยคลื่นความถี่แบบ 2.4GHz ซึ่งเนื้อหาจะอธิบายช่วงท้ายของบทความนี้

ในอดีตการซื้อไมโครโฟนไร้สายมาใช้งานนั้น ไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย แค่เราซื้ออุปกรณ์มาแล้วเปิดสวิตซ์ใช้งานได้เลยทันที โดยไม่ต้องสนใจว่าอุปกรณ์เหล่านั้นจะรับ/ส่งด้วยคลื่นความถี่ย่านใด จะผิดกฎหมายหรือไม่ แต่ปัจจุบันก่อนท่านจะซื้อควรสละเวลาทำความเข้าใจกับบทความนี้สักนิด เพราะประกาศของ กสทช. มีผลกระทบกับผู้ใช้ทุกคน เราจึงสรุปทางออกของปัญหาไว้ดังนี้

  • สำหรับผู้ใช้ไมโครโฟนไร้สายทั่วไป – แนวทางแก้ปัญหา ในกรณีที่ท่านจะซื้อไมค์ลอยใหม่ควรจะเลือกซื้อไมโครโฟนไร้สายคลื่นความถี่แบบ 2.4GHz ใช้ไปก่อน
  • สำหรับผู้ใช้ไมโครโฟนระดับอาชีพหรือระดับคอนเสิร์ต – แนวทางแก้ปัญหา ควรเลือกซื้อไมโครโฟนไร้สายคลื่นความถี่ 2.4GHz หรือรุ่นที่สามารถปรับจูนความถี่เป็น 803-806 MHz ได้ ในอนาคตจะได้ไม่ต้องทิ้งอุปกรณ์นั้น

***ลองมาทำความเข้าใจในฐานะผู้ซื้อแบบง่ายๆ กันสักหน่อย ณ วันนี้หากใครจะซื้อไมค์ลอยย่าน 794-806MHz  หรือที่มีใช้อยู่แล้ว (ซึ่งคลื่นความถี่นี้เป็นดลื่นความถี่ที่อนุญาตให้ใช้กันมานานหลายปีแล้ว) ท่านสามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่หลังจากวันที่ 31 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป ท่านต้องปรับจูนคลื่นความถี่ไมค์ลอยของท่านจากคลื่นความถี่เดิมให้มาอยู่ฉพาะในย่าน 803-806 MHz เท่านั้น (ในกรณีที่ไมค์ลอยชุดนั้นปรับจูนได้) และจะสามารถใช้งานได้ต่อไป หรือหากไมค์ลอยชุดนั้นใช้ความถี่ย่าน 803-806 MHz อยู่แล้วตั้งแต่แรกก็สามารถใช้งานได้ตามปกติเช่นกัน***

***ส่วนในกรณีที่ไมค์ลอยของท่านไม่สามารถปรับจูนคลื่นความถี่ได้และไม่ได้อยู่ในย่าน 803-806 MHz ท่านต้องหยุดใช้งานไมค์ลอยชุดนั้นทันที ***

คำสั่งประกาศ กสทช.

วันที่ 21 ธันวาคม 2560 ทาง กสทช. ได้ออกคำสั่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับแรกออกมาเพื่อยกเลิกความถี่ของไมโครโฟนไร้สาย ซึ่งครอบคลุมไปถึงอุปกรณ์ In-Ear มอนิเตอร์ด้วย โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่ 31 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป หมายความว่าจากวันนี้ไปจะต้องใช้คลื่นความถี่อย่างระมัดระวัง

สำหรับคลื่นความถี่ UHF มาตรฐานใหม่ซึ่ง กสทช. กำลังจะเปิดให้ใช้ในอนาคตคือย่านความถี่แบนด์ 694-703, 748-758MHz และ 803-806 MHz และคลื่น VHF คือย่านความถี่แบนด์ 88-108, 165-210 MHz ท่านสามารถเริ่มซื้อไมค์ลอยความถี่ดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป และสามารถใช้งานได้โดยไม่มีกำหนดวันสิ้นสุดจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ทาง กสทช. ได้มีการจัดสรรความถี่สำหรับอุปกรณ์ประเภทไมค์ลอยให้ใหม่ ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ย่าน 694-806MHz

ดังนั้น หากท่านกำลังซื้อหรือวางแผนจะซื้อไมค์ลอยย่าน 794-806MHz ไปใช้งาน สิ่งที่ต้องพิจารณาอันดับแรกคือไมค์ลอยเหล่านั้นจะต้องปรับจูนความถี่ไปเป็น 803-806MHz ได้ หากจูนความถี่ดังกล่าวไม่ได้ท่านต้องหยุดใช้งาน เพราะหากล่วงเลยวันเวลาที่กำหนด (31 มีนาคม 2564) ถือว่าเป็นการทำผิด พรบ.วิทยุฯ

**หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นี่คือโทษต่ออุปกรณ์ 1 ชิ้น

ในการปรับแต่งความถี่นั้น เราพบว่าไมโครโฟนบางรุ่นสามารถปรับแต่งได้ บางรุ่นทำไม่ได้ ก่อนเลือกซื้อควรสอบถามรายละเอียดของอุปกรณ์กับร้านจำหน่ายให้ชัดเจนก่อน และการปรับจูนเชิงลึกเช่นเปลี่ยนเมนบอร์ดก็จะมีค่าใช้จ่าย ยกเว้นผู้ผลิตรายนั้นออกแบบมาให้ผู้ใช้สามารถปรับจูนความถี่แต่แรก การซื้อไมค์ลอยควรซื้อกับร้านตัวแทนจำหน่ายที่เชื่อถือได้ เพราะหากซื้อสินค้าที่นำเข้าไม่ถูกต้อง จะถือว่าทำผิด พรบ.วิทยุฯ เช่นกัน

ทางเลือกอื่นๆ

เพื่อความปลอดภัย วันนี้หากท่านไม่มั่นใจไมโครโฟนไร้สายย่าน UHF (300-3000MHz) และท่านมีความจำเป็นต้องใช้ ท่านมีอีกทางเลือกคือสามารถเลือกซื้อไมค์ที่ใช้คลื่นความถี่แบบ 2.4GHz ที่เป็น ISM Band เนื่องจากย่านคลื่นความถี่ดังกล่าวยังไม่มีรัฐบาลของประเทศใดในโลกเข้ามาควบคุม ทำให้อุปกรณ์ที่ใช้คลื่น 2.4GHz ผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก หลายๆ ยี่ห้อจึงได้ผลิตไมค์ไร้สายคลื่น 2.4GHz ออกสู่ตลาด เพราะไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ

อย่างไรก็ดี คลื่นความถี่ 2.4GHz มีข้อจำกัดคือ ระยะทางในการส่งจะสั้นกว่าคลื่น UHF ตัวอย่างบางยี่ห้อ เช่น Shure บางรุ่นระยะหวังผลจะส่งได้ไกลสุดราว 30 เมตร หรือยี่ห้อ audio-technica บางรุ่นรับ-ส่งได้ 60 เมตร แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ มันมีความเสี่ยงในบางครั้งอาจจะไปเบียดกับคลื่นความถี่ของอุปกรณ์อื่นๆ เช่น Bluetooth และ Wi-Fi ที่ใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวได้เช่นกัน

สรุป

ตามคำสั่งของ กสทช. (1) เรื่องมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์สําหรับเครื่องวิทยุคมนาคมประเภทไมโครโฟนไร้สาย (2) เรื่องหลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่สําหรับเครื่องวิทยุคมนาคมประเภทไมโครโฟนไร้สาย (3) หลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่สําหรับเครื่องวิทยุคมนาคมประเภทไมโครโฟนไร้สาย  (ฉบับที่ 2)

ส่งผลให้ผู้นำเข้าและผู้ผลิตต้องปรับตัวกันใหม่ทั้งหมด เกือบทุกรายได้ชะลอการนำเข้าไมโครโฟนไร้สายแบบคลื่นความถี่ เดิม คาดว่าตลาดไมโครโฟนไร้สายน่าจะกลับมาบูมอีกครั้งหลัง 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

ในระหว่างนี้อาจมีผู้นำเข้าไมโครโฟนไร้สายคลื่น 2.4GHz เข้ามาจำหน่าย ในฐานะผู้ใช้งานหากท่านมีความจำเป็นต้องใช้งานไมโครโฟนไร้สาย และไม่ได้ใช้งานในระยะไกลๆ คือไม่เกิน 30-60 เมตร การเลือกซื้อไมโครโฟนไร้สายคลื่น 2.4GHz ก็เป็นแนวทางที่ปลอดภัย พอพ้นเวลาตามประกาศ กสทช. ค่อยวางแผนจัดซื้ออุปกรณ์ใหม่อีกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการทำผิดกฎหมายและการซื้ออุปกรณ์ซ้ำซ้อน

ในอนาคตเราจะได้ใช้ไมโครโฟนไร้สาย โดยจะถูกแบ่งออกเป็น 3 แบนด์ความถี่มาตรฐานใหม่ คือบนย่าน 694-703MHz, 748-758MHz และ 803-806MHz ภาพรวมคือจะได้แบนด์วิธความถี่เพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน ทำให้สามารถใช้งานกับไมโครโฟนไร้สายและ In-Ear มอนิเตอร์ได้พร้อมกันมากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1.หลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่สําหรับเครื่องวิทยุคมนาคมประเภทไมโครโฟนไร้สาย  (ฉบับที่๒)  

2.หลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่สําหรับเครื่องวิทยุคมนาคมประเภทไมโครโฟนไร้สาย

3.เรื่องมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์สําหรับเครื่องวิทยุคมนาคมประเภทไมโครโฟนไร้สาย

4.คําถาม-คําตอบ กรณีปรับเปลี่ยนไมโครโฟนไร้สาย

บทความโดย : อจ.เดชฤทธิ์ พลเยี่ยม (Bobby Rambo)


สนใจสั่งซื้อไมค์ลอย ไมโครโฟนไร้สายทุกรุ่น
ติดต่อ บริษัทมิวสิคสเปซ จำกัด  022031821  026414744 ext 13

https://musicspace.co.th   www.soundspacethai.com