สายสัญญาณอนาล็อกและดิจิตอลในระบบเสียง (ชนิดและการเชื่อมต่อ)
ปัจจุบันรูปแบบการเชื่อมต่อของสัญญาณชนิดต่างๆ บนอุปกรณ์กลุ่มเครื่องเสียงกลางแจ้ง ระบบชุดประชุม สายงานบรอดคาสต์ และสตูดิโอ เริ่มมีความหลากหลายยิ่งขึ้น ยุคนี้ถือเป็นยุคดิจิตอล โดยระบบดิจิตอลได้เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของคนทุกวงการหลายปีมาแล้ว และทำให้รูปแบบการสื่อสาร การเชื่อมต่อบางประเภทเริ่มหายไป ซึ่งก็คือระบบอะนาล็อก เราลองมาทำความรู้จักชนิดหรือรูปแบบการเชื่อมต่ออุปกรณ์ ว่ามีอะไรบ้าง
ประเภทของสัญญาณ
แม้ยุคนี้ถือเป็นยุคดิจิตอล แต่ระบบการสื่อสารและการเชื่อมต่อสัญญาณยังไม่ได้เป็นดิจิตอล 100% ยังมีอุปกรณ์บางชนิด หรือรูปแบบการเชื่อมต่อบางอย่างยังเป็นอะนาล็อกอยู่ ซึ่งเราสามารถแบ่งประเภทของสัญญาณที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- สัญญาณอะนาล็อก
- สัญญาณดิจิตอล
สัญญาณอะนาล็อกถือเป็นสัญญาณเก่าแก่ที่โลกใช้กันมานานมาก แม้บางอย่างถูกทดแทนด้วยดิจิตอลไปแล้วก็ตาม แต่บางอย่างดิจิตอลยังไม่สามารถทดแทนอะนาล็อกได้ อย่างไรก็ดี สัญญาณอะนาล็อกนั้นมีข้อด้อยหลายอย่าง จึงเริ่มได้รับความนิยมน้อยลง ด้วยข้อด้อย/ข้อจำกัดดังนี้
1. สัญญาณอะนาล็อกมีการรบกวนสูง ในกรณีที่ใช้สายสัญญาณยาวมากไป ไม่ว่าจะเป็นชนิดสายสัญญาณแบบ TRS, TS และ XLR ก็ตาม มักจะเกิดสัญญาณรบกวนปะปนเข้ามา และหลีกเลี่ยงได้ยากมาก แม้สัญญาณอะนาล็อกบางชนิดจะมีกระบวนการลดทอนการรบกวนให้น้อยลงได้ แต่ก็ทำได้ไม่หมด เพราะหากใช้สายยาวมากๆ เช่นยาวเกินกว่า 100 เมตรจะเริ่มเกิดสัญญาณรบกวนมากขึ้น และจะเกิดการสูญเสียของสัญญาณมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ปลายทางได้รับสัญญาณด้อยคุณภาพ
2. ต้องใช้สายจำนวนมาก การเชื่อมต่อในระบบงานคอนเสิร์ต ระบบชุดประชุม บรอดคาสต์ การบันทึกเสียงแสดงสด และในสตูดิโอ หากมีการใช้ไมโครโฟนจำนวน 20 ตัว จำเป็นต้องใช้มิกเซอร์หรือเครื่องผสมสัญญาณเสียงไม่น้อยกว่า 24 แชนแนล หากมิกเซอร์วางอยู่ห่างเวทีหรือผู้พูดระยะ 60 เมตร จำเป็นต้องใช้สาย 20 เส้น เส้นละ 60 เมตร ทำให้มีค่าใช้จ่ายเรื่องสายสูงมาก หากต้องการประหยัดงบก็ต้องใช้สายอะนาล็อกที่เรียกว่า “สายมัลติคอร์” รวมถึงการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเอฟเฟ็กต์ โพรเซสเซอร์ต่างๆ ก็ต้องใช้สายตามจำนวนช่องสัญญาณที่ใช้งานจริง
สัญญาณอะนาล็อก
เราสามารถพบรูปแบบการเชื่อมต่อสัญญาณอะนาล็อก 4 ชนิดนี้ ได้ตามมิกเซอร์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับข้องสัญญาณเสียง โดยทั้งหมดถูกแยกประเภทสัญญาณเป็น Balanced และ Unbalanced ข้อดีของสายแบบบาลานซ์คือสัญญาณรบกวนต่ำ ส่งได้ไกลกว่า ตัวพื้นฐานจะมีตัวนำสัญญาณ 3 สาย ทำให้ขั้วต่อมี 3 ขั้วหรือ 3 สาย เช่น XLR และ TRS ปัจจุบันพบ XLR7 ซึ่งขั้วต่อชนิดนี้มีถึง 7 ขา ส่วนอันบาลานซ์คือสัญญาณ ที่มี 2 ขั้วสัญญาณ คือ Hot และ Ground เช่นสายลำโพง สายสัญญาณเครื่องดนตรี สายสัญญาณโมโน
- TS – ย่อมาจาก Tip Sleeve เป็นสายอะนาล็อกมีรูปแบบการเชื่อมต่อ Unbalanced ประกอบด้วย 2 ขั้วต่อคือ ตัวนำสัญญาณและกราวน์ จัดเป็นสัญญาณโมโน พบได้ในสายเครื่องดนตรีพวกกีตาร์ ช่องอินพุตของมิกเซอร์ และเอฟเฟ็กต์ต่างๆ สาย Line มีขนาด 1/4 และ 1/8 นิ้ว คำแนะนำ การใช้งานไม่ควรเกินระยะ 5 เมตร หากใช้สายยาวจะเกิดปัญหาจี่ฮัมได้
- TRS – ย่อมาจาก Tip Ring Sleeve เป็นสายอะนาล็อกมีรูปแบบการเชื่อมต่อเป็น Balanced มักเรียกกันว่า “แจ็คโฟน” สามารถส่งสัญญาณได้ทั้งแบบโมโนและสเตริโอ มีขนาด 1/4 นิ้ว และ 1/8 นิ้ว ใช้งานได้กว้าง ทั้งแจ็คหูฟัง แจ็คแปลงสัญญาณ และยังมีอีกชนิดคือ TRRS เป็นขั้วต่อหูฟังของสมาร์ทโฟนเช่น iPhone
- XLR – เป็นสายประเภท Balanced มีขั้วต่อตั้งแต่ 3 ขั้วจนถึง 7 ขั้ว นำไปใช้งานได้หลากหลายทั้งเสียง แสง และใช้ส่งสัญญาณควบคุม ข้อดีคือมีสัญญาณรบกวนต่ำ สามารถใช้สายได้ยาวกว่าการต่อแบบ TS ถึง 7-8 เท่า โดยที่สัญญาณรบกวนยังต่ำ ภายในมีขั้ว Hot , Cold , Ground ถูกใช้เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมแสง เสียง ภาพ สามารถส่งสัญญาณได้ไกลประมาณ 30-40 เมตร พบได้ทั้งบนตัวมิกเซอร์ ลำโพงที่มีเครื่องขยายเสียงในตัว และอื่นๆ อีกมากมาย
- RCA – เป็นสายที่พบได้บ่อยในเครื่องเล่นเสียงต่างๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่มีระบบสเตริโอ ทั้งในบ้านและระบบเสียงกลางแจ้ง แบ่งเป็น 2 ขั้ว (ขาว-แดง) จัดเป็นสัญญาณประเภทอันบาลานซ์ สามารถส่งสัญญาณเป็นสเตริโอได้ นิยมใช้ความยาวสายสั้นๆ
สัญญาณดิจิตอล
อุปกรณ์ในระบบเสียงดิจิตอลมีกระบวนการบางอย่างแตกต่างไปจากระบบอะนาล็อก สิ่งหนึ่งที่ได้เปรียบสัญญาณอะนาล็อกคือ สัญญาณรบกวนจะต่ำกว่า แม้ว่าจะมีการใช้สายสัญญาณยาวๆ ก็ตาม เพราะในระบบจะมีการกู้คืนค่าสัญญาณหรือชดเชยสัญญาณปลายทางให้ รวมถึงเราสามารถลดจำนวนของสายสัญญาณลงได้ เพราะรูปแบบการส่งข้อมูลของดิจิตอลจะมีเฉพาะเลข 0 และ 1 ไม่ได้เป็นสัญญาณโวลเตจแบบอะนาล็อก ซึ่งมีค่าคงที่กว่า
สายเพียงเส้นเดียวในหนึ่งวินาทีสามารถส่งข้อมูลได้เป็นพันล้านเลข เช่นสัญญาณเสียง 100 แชนแนล ด้วยระบบดิจิตอลเราสามารถส่งผ่านสาย 1 เส้นได้ รวมถึงการบริหารจัดการก็ทำได้คล่องตัวกว่า อย่างไรก็ดี สายสัญญาณดิจิตอลบางชนิดส่งข้อมูลได้จำกัด นั่นเป็นเพราะข้อจำกัดทางเทคโนโลยีเหล่านั้น อาทิ S/PDIF, AES จะมีความแตกต่างกับการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงผ่านสาย LAN การเชื่อมต่อสัญญาณดิจิตอลที่ควรรู้มีดังนี้
- S/PDIF – เป็นรูปแบบการส่งสัญญาณดิจิตอลรุ่นเก่าแก่ มาจากคำว่า Sony/Philips Digital Interface ใช้งานคล้ายกับ RCA แต่เป็นคนละชนิด ข้อดีคือสัญญาณรบกวนต่ำกว่า RCA ใช้สายสัญญาณสั้นๆ ข้อควรระวังคือใช้แทน RCA ไม่ได้
- AES/EBU – เป็นรูปแบบการส่งสัญญาณดิจิตอล ในรูปแบบหนึ่ง รองรับการส่งได้ไกล หากเลือกใช้สายคุณภาพดี สามารถส่งข้อมูลได้ไกลถึง 100 เมตรเลยทีเดียว ทำงานได้ทั้งในลักษณะ Balanced (110 โอห์ม) และ Unbalanced (75 โอห์ม)
- MADI – เป็นชนิดการส่งสัญญาณดิจิตอล ที่สามารถส่งข้อมูลเสียงได้สูงสุด 64 แชนแนล ซึ่งจำเป็นต่องานแสดงสด ที่มีการใช้สายยาวไม่เกิน 100 เมตร สามารถพบได้ในมิกเซอร์แบรนด์ดัง อาทิ Yamaha, Soundcraft, DiGiCo และโพรเซสเซอร์อย่าง KLARK TEKNIK และอื่นๆ
- Dante – เป็นรูปแบบการส่งข้อมูลเสียงแบบดิจิตอลในลักษณะ Over IP พัฒนาโดยบริษัท Audinate ขาย license ไปแล้วกว่า 350 บริษัท มีอุปกรณ์นับพันที่รองรับ Dante ปัจจุบันได้รับความนิยมสูง เนื่องจากใช้งานง่าย อุปกรณ์รองรับแพร่หลาย ระบบมีความน่าเชื่อถือสูง ให้คุณภาพเสียงในระดับอาชีพ สามารถส่งสัญญาณเสียงนับ 100 แชนเนลผ่านสาย LAN เพียงเส้นเดียว
- ADAT – เป็นรูปแบบการส่งสัญญาณเสียงดิจิตอลที่พัฒนาโดย Alesis รับส่งสัญญาณผ่านสายเคเบิลแบบไฟเบอร์ออปติกได้สูงสุด 8 แชนเนล มีอุปกรณ์เครื่องเสียงจำนวนมากรองรับ
- CobraNet – เป็นรูปแบบการส่งสัญญาณเสียงดิจิตอลแบบ Over IP คล้ายกับ Dante เน็ตเวิร์ก แต่ปัจจุบันความนิยมยังเป็นรอง Dante เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่อง Double Bandwidth ที่เป็นสถาปัตยกรรมของตัวมันเอง มีค่า Latency สูงกว่า Dante
- EtherSound – คล้ายกับ CobraNet คือรับส่งข้อมูลได้ 64 แชนแนล กรณีต้องการจำนวนแชนแนลมากกว่านั้น จะต้องสร้างเครือข่ายขึ้นมาอีกหนึ่งวง LAN ซึ่งมีความยุ่งยากกว่า
สรุป
ในยุคดิจิตอลเราไม่สามารถปฎิเสธความก้าวหน้าเทคโนโลยีได้ เราต้องอยู่กับมัน โดยเฉพาะปัจจุบันการส่งสัญญาณเสียงนั้น ไม่ได้ถูกจำกัดการส่งเฉพาะบนสายอะนาล็อกแบบเดิมๆ เพราะสัญญาณเสียงนั้นสามารถส่งผ่านระบบเน็ตเวิร์กได้ อาจจะเป็นเรื่องไกลตัวของผู้ที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านสายคอมพิวเตอร์ แต่ควรศึกษาไว้ เพื่อช่วยให้กระบวนการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานหรือองค์กรของท่าน