เทคนิคการเลือก ไมค์อัดเสียง (สำหรับมือใหม่)


เทคนิคการเลือก ไมค์อัดเสียง (สำหรับมือใหม่)

บทความนี้เราจะมาแนะนำการเลือกใช้ไมโครโฟนอัดเสียงสำหรับมือใหม่ที่ต้องการทำโฮมสตูดิโอ (Home Studio) อัดวิดีโอลงยูทูป (Youtube ) หรือทำเดโมเพลง ( Demo ) ที่ต้องการจะยกระดับคุณภาพเสียงในการอัดเสียงของตนเองบนสื่อที่ตนเองผลิตออกมา ให้มีคุณภาพสูงขึ้น แต่ยังไม่มีความกล้าที่จะสู่ขอไมโครโฟนซักตัวมาเป็นคู่รู้ใจในการบันทึกเสียงให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุดในราคาที่เหมาะสม

หากจะกล่าวถึงเรื่องอุปกรณ์เครื่องเสียงแล้ว อุปกรณ์ที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆเลยก็คงจะหนีไม่พ้นอุปกรณ์ที่เรียกว่าไมโครโฟน เพราะเป็นอุปกรณ์ที่เป็นด่านแรกสุดของระบบเสียง มันทำหน้าที่เปลี่ยนสัญญาณเสียงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าเพื่อส่งผ่านไปยังอุปกรณ์ต่างๆของระบบ แน่นอนว่าเมื่อเป็นด่านแรกหากทำหน้าที่แปลงสัญญาณผิดเพี้ยนส่วนที่เหลือที่รับหน้าที่ต่อจากไมโครโฟนก็จะเพี้ยนตามทั้งหมด ฉะนั้นไมโครโฟนถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากในระบบเสียงทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นในห้องบันทึกเสียงหรือเครื่องเสียงกลางแจ้ง

ข้อแนะนำเบื้องต้นในการเลือกซื้อไมโครโฟนอัดเสียงสำหรับมือใหม่

  • จะใช้อัดเสียงอะไร
  • ชนิดของไมโครโฟน
  • รูปแบบการรับเสียง
  • การตอบสนองความถี่
  • งบประมาณ

จะใช้อัดเสียงอะไร?

คำถามด่านแรกสุดเลยไม่ว่าจะไปซื้อไมโครโฟนที่ร้านไหนก็แล้วแต่ มักจะเจอคำถามนี้แน่นอนแล้วเรามักจะหงุดหงิดใส่คนขายว่ามาซื้อไมค์ก็เอาไว้อัดเสียงสิจะเสียงอะไรมันเกี่ยวกันตรงไหน อยากบอกว่ามันสำคัญแน่นอน หากคุณรู้ว่ากำลังจะเอาไมค์ตัวนี้ไปอัดเสียงอะไร เพราะไมโครโฟนมีเยอะแยะมากมาย แต่ละรุ่นแต่ละตัวก็มีเสียงที่แตกต่างกันไป

หากเราบอกคนขายว่าจะนำไปอัดเสียงอะไร คนขายจะแนะนำได้ว่าต้องใช้ไมโครโฟนรุ่นไหนใช้ยังไง ไม่ใช่ได้ไมโครโฟนแล้วไปวางไว้ตรงไหนก็ได้อย่างนี้ไม่มีทางได้คุณภาพเสียงที่ดีแน่นอน ต่อให้ใช้ไมโครโฟนราคาหลักแสนก็เถอะ ยกตัวอย่างเช่น จะนำไมโครโฟนไปบันทึกเสียงร้องเสียงบรรยายของตัวเอง เราก็ต้องเลือกไมโครโฟนที่ให้เสียงออกมาใกล้เคียงกับเสียงเราที่สุด ไม่ใช่เลือกไมโครโฟนที่อัดเสียงออกมาแล้วเสียงเพี้ยนไปอย่างนี้ก็ไม่เหมาะสมแน่นอน

เมื่อเราตั้งโจทย์ว่าเราจะนำไมโครโฟนมาอัดเสียงร้องมันก็จะมีคำถามตามมาอีกว่า มีอัดเสียงอย่างอื่นด้วยหรือเปล่าเป็นเสียง เบส, กีต้าร์, กลอง เพราะบางครั้งไมโครโฟนบางตัวสามารถอัดเสียงเครื่องดนตรีได้หลากหลายชนิดฉะนั้นถ้าเลือกเป็นรับรองได้ว่าคุ้มค่าอย่างแน่นอนกับเงินที่ต้องจ่ายไป

ชนิดของไมโครโฟน (บทความ ชนิดและประเภทของไมโครโฟน)

เมื่อรู้ว่าต้องการอัดเสียงอะไรแล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องรู้เป็นเรื่องต่อมาก็คือ ชนิดของไมโครโฟน ในที่นี้จะยกตัวอย่างแค่ 2 ชนิดหลักๆที่เรามักพบเจออยู่บ่อยๆก็คือ

ไดนามิคไมโครโฟน และ คอนเดนเซอร์ไมโครโฟน แล้วจะใช้ตัวไหนให้เหมาะสมกับการใช้งาน เราต้องเข้าใจก่อนว่าการทำงานของไมโครโฟนแต่ละชนิดนั้นโครงสร้างการทำงานเป็นอย่างไรและให้เสียงแบบไหน ไมโครโฟนชนิดไดนามิคนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ไฟเลี้ยง 48v. ก็สามารถทำงานได้ทันที ถ้าหากเรามีซาวด์การ์ดที่ไม่สามารถปล่อยไฟ 48v. ได้ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะเลือกไมโครโฟนชนิดคอนเดนเซอร์ เพราะไมโครโฟนคอนเดนเซอร์นั้นจำเป็นต้องใช้ไฟ 48v. เพื่อทำให้วงจรอิเลคทรอนิคทำงาน

และพวกไดนามิคไมโครโฟนนั้นจะให้เสียงย่านต่ำลดลงเมื่อเราอยู่ห่างจากไมโครโฟน แต่คอนเดนเซอร์นั้นจะให้ความถี่ที่ค่อนข้างราบเรียบสม่ำเสมอเกือบทุกย่านความถี่ มันจึงมีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่า เมื่อรู้อย่างนี้แล้วใช่ว่าไดนามิคไมโครโฟนจะไม่ดี หากเราต้องการไมโครโฟนไปรับเสียงที่มีการกระชากของเสียงอย่างรุนแรงหรือเรียกอีกอย่างนึงว่าทรานเชี่ยน(Transient) เช่นเสียง สแนร์ ที่มีความดังมากๆ ไดนามิคไมโครโฟน ก็อาจจะตอบโจทย์ตรงนี้เพราะด้วยความทนทานและวงจรที่ไม่สลับซับซ้อนทำให้สามารถรับแรงกระชากของเสียงได้ดี

สรุปประเภทและชนิดของไมค์อัดเสียง

  • ไดนามิคไมโครโฟน ไม่จำเป็นต้องใช้ไฟเลี้ยง 48v สามารถรับแรงกระชากของเสียงได้ดี ให้เสียงย่านต่ำลดลงเมื่อเราอยู่ห่างจากไมโครโฟน ราคาต่ำกว่าเมื่อเทียบกับคอนเดนเซอร์ไมโครโฟน
  • คอนเดนเซอร์ไมโครโฟน ต้องใช้ไฟเลี้ยง 48v Phantom Power จำเป็นต้องมีแหล่งจ่ายไฟให้ไมโครโฟน หรือมิกเซอร์รุ่นที่ใช้จะต้องมี Phantom ให้ความถี่ที่ค่อนข้างราบเรียบสม่ำเสมอเกือบทุกย่านความถี่ มีราคาสูงกว่าไดนามิคไมโครโฟน

รูปแบบการรับเสียง

โดยปกติไมโครโฟนส่วนใหญ่ที่เรานำมาใช้อัดเสียงนั้น ส่วนมากจะมีรูปแบบการรับเสียงแบบคาร์ดิออย (Cardioid) นั่นคือ รับเสียงจากด้านหน้าเป็นหลัก และการรับเสียงจะลดลงตามองศาของไมโครโฟน แต่ก็มีไมโครโฟนบางรุ่นบางยี่ห้อที่สามารถปรับเลือกรูปแบบการรับเสียงได้ อันนี้ถือว่าทำให้สะดวกสบายต่อการใช้งาน แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงขึ้นตามมา

ดังนั้นเราก็ต้องดูความเหมาะสมว่าเรานำไปใช้อัดอะไรหากเป็นเสียงร้องการรับเสียงที่เป็นคาร์ดิออยก็ดูจะเหมาะสมกว่าการรับเสียงแบบออมนิไดเรคชั่นนอล(Omnidirectional การรับเสียงรอบทิศทาง) เพราะมันจะรับเสียงสะท้อนเข้ามาด้วย อย่าลืมว่าโฮมสตูดิโอที่เราทำงานนั้นไม่ได้ทำอคูสติคโดยตรงเพื่ออัดเสียงเราเลยต้องเลือกไมโครโฟนที่มีรูปแบบการรับเสียงให้เหมาะกับห้องที่เราอัดด้วย

การตอบสนองความถี่

ไมโครโฟนที่ตอบสนองความถี่ได้ตรงกับเครื่องดนตรีที่เราจะอัดนั้นแน่นอนว่ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งหากเราเลือกได้อย่างเหมาะสม เวลาเราไปมิกซ์เสียงในขั้นตอนสุดท้ายเราก็จะได้ไม่ต้องไปแก้ไขมากมายทำให้การทำงานของเรานั้นรวดเร็วยิ่งขึ้น การตอบสนองความถี่นั้นดูได้จากสเปคของไมโครโฟนซึ่งส่วนใหญ่จะให้มา ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องการไมโครโฟนซักตัวมาอัดเสียงร้อง

เราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าเสียงร้องของคนนั้นอยู่ในความถี่ต่ำสุดและสูงสุดเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเสียงร้องผู้ชายจะอยู่ระหว่าง 150Hz – 2kHz ฉะนั้นเราจำเป็นร้องเลือกไมโครโฟนที่ตอบสนองย่านความถี่ตรงนี้ได้ดีเราก็จะได้ความถี่ที่ตรงและแม่นยำในการทำงานเกินกว่านี้ก็ได้ถือว่าทำให้มีตัวเลือกในการอัดเสียงเพิ่มขึ้นไปอีก ขนาดของไดอะแฟรมก็สำคัญให้เลือกไดอะแฟรมใหญ่ไว้ก่อนนะครับจะได้เปรียบในการอัดเสียงเครื่องดนตรีได้หลากหลาย

งบประมาณ

ปัจจัยสุดท้ายในการเลือกซื้อ หากเราแค่นำมาอัดเสียงเพื่อลงยูทูปหรือทำแค่เดโมธรรมดาเราก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปลงทุนกับไมโครโฟนราคาหลักแสน บางครั้งไมโครโฟนราคาหลักพันหรือหลักหมื่นต้นๆก็ตอบโจทย์ทุกสิ่งทุกอย่างของเรา(แต่หากมีงบประมาณมากๆก็ไม่ว่ากันนะครับ) เรื่องแบบนี้เราสามารถปรึกษาทางร้านค้าได้ครับเค้าจะแนะนำให้เราได้อย่างเหมาะสม

แนะนำรุ่นไมโครโฟนบันทึกเสียงสำหรับผู้เริ่มต้น (เป็นรุ่นที่ขายดีของทางร้านมิวสิคสเปซ)

 

รายละเอียดและคุณสมบัติ

ไมค์อัดเสียง BEHRINGER C1 STUDIO MICROPHONE

ไมค์อัดเสียง BEHRINGER C1U USB STUDIO MICROPHONE

ไมค์อัดเสียง SAMSON C01 STUDIO MICROPHONE

ไมค์อัดเสียง SAMSON METEOR MIC USB STUDIO MICROPHONE

ไมค์อัดเสียง SAMSON C01U USB STUDIO MICROPHONE

ไมค์อัดเสียงสำหรับติดโทรศัพท์ RODE IXY LIGHTNING STEREO MICROPHONE

ไมค์อัดเสียง RODE NT1-A STUDIO MICROPHONE

ไมค์อัดเสียง RODE NT-USB STUDIO MICROPHONE


“หวังว่าบทความนี้คงจะเป็นประโยชน์ สำหรับมือใหม่หัดอัดเสียงที่ต้องการไมโครโฟนคุณภาพในราคาที่เหมาะสมไปใช้งาน อยากบอกว่าไม่มีไมโครโฟนตัวไหนดีที่สุดในโลก มีแต่ไมโครโฟนที่เหมาะสมกับสิ่งที่เราต้องการบันทึกเท่านั้น”

เสียงของเราอาจจะเหมาะกับไมโครโฟนหลักพันมากกว่าหลักแสนก็ได้ ฉะนั้นอย่าเชื่อคำพูดใครจนกว่่าจะได้ลองนะครับ หากมีข้อสงสัยประการใดในการเลือกไมค์อัดเสียง ไมโครโฟรบันทึกเสียงเสียง ไมค์สำหรับห้องบันทึกเสียง ทุกรุ่นทุกประเภท

บริษัท Musicspace ยินดีให้บริการปรึกษา พร้อมคำแนะนำในการเลือกซื้อไมโครโฟนและอุปกรณ์เครื่องเสียงกลางแจ้งทุกชนิด โทร.020423530 022031821


เครดิต…..ขอขอบพระคุณบทความเทคนิคการเลือก ไมค์อัดเสียง (สำหรับมือใหม่)

จาก www.soundspacethai.com

หากมีข้อมูลหรือข้อผิดพลาดประการใดสำหรับบทความนี้ต้องขออภัยมาณ.ที่นี้ด้วยครับ

บทความโดย : อาจารย์ น้อย ทรงพล Sound engineer ประจำ Musicspace 
สนใจบทความสาระน่ารู้เกี่ยวกับระบบเสียงดีดีได้ที่ www.liveforsound.com